
ภาคกลาง
พื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแม่น้ำลำคลองมากมายไหลผ่าน และมีระบบการชลประทานที่ดีเยี่ยม ทำให้สามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี ภาคกลางจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ทำนาในภาคนี้นิยมปลูกข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ ด้วยสภาพดินมีความเป็นดินเหนียวมากกว่าในท้องที่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ ชาวนาภาคกลางยังเน้นการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงซึ่งสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ครั้งต่อปี

ภาคใต้
สภาพพื้นที่ในภาคใต้เป็นที่ราบมีทะเลขนาบทั้ง 2 ด้าน สลับด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำฝนในการทำนา ทั้งนี้ภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝนช้า จึงส่งผลให้การทำนาและผลผลิตที่ได้ล่าช้ากว่าภูมิภาคๆ อื่นของประเทศ แม้พื้นที่เพาะปลูกข้าวของทางภาคใต้จะมีไม่มาก และลักษณะทางกายภาพของผืนดินมีความเค็มและความเป็นกรดสูงแต่ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สามารถคัดสรรพันธุ์ข้าวที่เจริญเติบโตได้ดีบนผืนดินแห่งนี้ ทำให้ภาคใต้มีพันธุ์ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทำนาทั้งหมดของประเทศโดยทางตอนเหนือของภาคมีพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกคือข้าวเหนียว ส่วนทางตอนใต้นิยมปลูกข้าวเจ้าสภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงและมีความแห้งแล้งกว่าภาคอื่นๆแต่อย่างไรก็ดีด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าวกลับทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายสายพันธุ์ รวมถึงข้าวหอมมะลิจากพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก

ภาคเหนือ
ภูมิประเทศภาคเหนือของไทยส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและเทือกเขาสลับซับซ้อนและมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าว จึงมีรูปแบบการทำนาที่แบ่งออกเป็น การปลูกข้าวนาสวน (Lowland rice) ในส่วนที่เป็นพื้นที่ราบระหว่างภูเขาและปลูกข้าวไร่(Upland rice) และทำนาขั้นบันได ในพื้นดอนและที่สูงบนภูเขาซึ่งมีความลาดชัน ส่วนมากชนิดของข้าวที่ปลูกเป็นทั้งพันธุ์ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า รวมถึงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบนดอยสูงที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศหนาวเย็น